อุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากไปทั่วทุกมุมโลกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ และได้เกิดการปะทะกันมากมายหลายรูปแบบระหว่างเบียร์รายย่อยและเบียร์เจ้าตลาดตามความเข้มข้นของพัฒนาการดังกล่าว
ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของคราฟต์เบียร์นั้น ปรากฏการณ์ “เบียร์กินเบียร์” ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ข่าวคราวการไล่เข้าฮุบกิจการหรือการคืบคลานเข้าไปควบรวมหรือขอมีส่วนร่วมในธุรกิจผลิตคราฟต์เบียร์จากฝั่งบริษัทเบียร์ขนาดยักษ์นั้นปรากฏอยู่บนหน้าข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากชนิดเสียงแตกและเกิดเป็นเรื่องดราม่าขึ้นอยู่เนือง ๆ
แต่โดยมาก หากลองฟังเสียงจากบรรดาผู้ผลิตที่ยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ในสมาคมผู้ผลิตเบียร์หรือ Brewers Association (BA) ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจประเภทไม่หวังผลกำไรที่เป็นแกนกลางในการผลักดันการคงอยู่และความเจริญก้าวหน้าของวงการคราฟต์เบียร์อเมริกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่ก็ค่อนไปในทางไม่เห็นด้วยและออกจะดูแคลนการขายกิจการของผู้ผลิตอิสระรายย่อยรวมทั้งพฤติกรรมการกว้านซื้ออย่างบ้าคลั่งของบรรษัทระดับมหึมาเหล่านั้นอยู่มากเอาการ
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทางสมาคม BA จึงได้เริ่มเดินหน้าโครงการซึ่งมีแนวคิดที่ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่ยังคงสถานะเป็นผู้ผลิตอิสระอยู่ท่ามกลางความโกลาหลทางธุรกิจที่ว่านี้
ความอิสระที่ว่านี้สะท้อนถึงการที่ผู้ผลิตจากโรงทำเบียร์เหล่านี้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติการบริหารจัดการของบรรษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดยักษ์ทั้งหลาย และสามารถสร้างสรรค์เบียร์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและแปลกใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยืนอยู่บนหลักคิดเรื่องผลกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว
Independent Craft
ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ใช้รูปเงาขวดเบียร์กลับหัว มีคำว่า INDEPENDENT หรือ “เป็นอิสระ” อยู่ตรงกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าความอินดี้ หรือการผลิตแบบอิสระจากค่ายยักษ์ใหญ่นั่นเองที่เป็นหัวใจสำคัญของผู้ที่เลือกดื่มคราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81 ในปีที่ทำการสำรวจ)
Bob Pease ประธานและ CEO ของ BA กล่าวเสริมด้วยว่า “เหล่าผู้ผลิตเบียร์อิสระจะ “พลิก” (ดังนั้นจึงใช้รูปขวดเบียร์กลับหัว – ผู้เขียน) อุตสาหกรรมเบียร์ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องของชุมชนมากกว่าบรรษัท และสนใจเรื่องน้ำเบียร์มากกว่าผลกำไร พวกเขาจะพัฒนาเบียร์และประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยก้าวไกลไปมากกว่าแค่การทำเบียร์ ธุรกิจขนาดย่อมของพวกเขานั้นตอบแทนสู่สังคมรอบข้างและค้ำชูการคงอยู่ของเมืองน้อยใหญ่นับพันแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา”
ปัจจุบันโรงผลิตเบียร์ในสหรัฐอเมริกามีอยู่มากกว่า 9,000 แห่ง และร้อยละ 99 ของจำนวนทั้งหมดก็เป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์อิสระรายย่อยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งการตลาดของบรรดาผู้ผลิตเหล่านี้กลับคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 กว่า ๆ ของปริมาณการซื้อขายเบียร์ทั้งหมดเท่านั้นเอง เมื่อสภาวะนี้มาปะทะเข้ากับสถานการณ์ที่บรรษัทเบียร์ขนาดยักษ์กำลังไล่เขมือบผู้ผลิตรายย่อยซึ่งยิ่งทำให้สัดส่วนหดหายลงไปทุกทีเช่นนี้ ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ออกมาอาจกลายเป็นเหมือนกับเครื่องยึดเหนี่ยวซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อยและวงการคราฟต์เบียร์ต่อสู้กับกระแสคลื่นทุนต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งก็เป็นได้
จากวันนี้ไปเราชาวไทยคงได้เห็นเบียร์จากผู้ผลิตอิสระทยอยแปะตราใหม่นี้ลงบนเบียร์ของพวกเขาเช่นกัน และตรานี้ยังไม่ได้ถูกจำกัดให้ใช้อยู่แค่ในกลุ่มสมาคม BA เท่านั้นด้วยนะ ก็คอยติดตามกันให้ดีแล้วกันคอเบียร์ทั้งหลาย
Thanks for your blog, nice to read. Do not stop.
Thank you for sharing with us, I conceive this website genuinely stands out : D.