Category Archives: Arts and Crafts

เบียร์ดำกินเนสเป็นของมังสวิรัติ

Obama toasting

 

Guinness
Irish Dry Stout – cadenaser

สมัยนี้ผู้คนดูแลตัวเองกันมากขึ้น จะกินอะไรก็ต้อง “คลีน” ไว้ก่อน และวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรากินคลีนอย่างที่ว่าได้นั้นก็คือการเลือกอาหารแบบมังสวิรัติมากินนั่นเอง (แถมช่วยให้คนรักสัตว์โลกสบายใจด้วย) หลายคนคงจะงงว่าแล้วที่ผ่านมาในเบียร์ดำไอริชเจ้าดังมีเนื้อสัตว์ด้วยหรือไงถึงได้ต้องประกาศก้องว่า “เป็นมังฯ แล้วนะพ่อแม่พี่น้อง”

Green written vegetarian signage
Vegetarian signage – odyssey

คำตอบก็คือ จะว่าอย่างนั้นก็ได้!

เบียร์กินเนสนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานไม่ใช่เล่นถึงตั้ง 256 ปี และที่ผ่านมาสูตรลับในการทำเบียร์ของเขามีส่วนผสมที่ทำมาจากสัตว์ด้วย ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า ไอซินกลัส (Isinglass) นั่นเอง เจ้าสารที่ว่านี้ก็คือแผ่นโปร่งแสงที่มีลักษณะคล้ายวุ้นหรือเจลาตินซึ่งได้มาจากผนังกระเพาะปลา ก็ถุงลมปลานั่นแหละ! เรื่องนี้ไม่ได้ล้อเล่น แต่มันเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ จะว่าไปนอกจากรูปแบบแผ่นแล้ว เขามีรูปแบบผงพร้อมใช้ด้วย คล้ายกับเวลาที่เราทำขนมเลยล่ะ

ผู้ที่คลุกคลีในวงการอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะไวน์กับเบียร์มักทราบกันดีถึงคุณสมบัติของไอซินกลัสในการทำให้น้ำเบียร์ใสโดยการทำให้สารแขวนลอยต่าง ๆ จับตัวกันและตกตะกอนอย่างรวดเร็วมานานเป็นร้อยปีแล้ว และเบียร์ไอริชเจ้านี้ก็ใช้เจ้าสิ่งนี้กับเบียร์ของพวกเขามาหลายทศวรรษแล้วด้วย ก็แน่นอนล่ะว่าเมื่อมีผู้คนตั้งหน้าตั้งตารอคอยเบียร์ดำประจำใจอย่างกินเนสอยู่ทั่วโลกวันละตั้งหลายสิบล้านคน ยิ่งเร็วยิ่งดี!

Fish
Fish – gillguide

ถึงตอนนี้บางคนคงรีบไปหาเบียร์กินเนสมาลองและดมหากลิ่นคาวปลากันยกใหญ่ เราบอกไว้เลยว่ามันไม่มีหรอกนะ เพราะเบียร์กินเนสเขากรองตะกอนทุกอย่างออกอีกรอบในตอนสุดท้าย ดังนั้นเบียร์จึงนุ่มคอเนียนกริบ

แต่เมื่อโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ผู้คนหันไปใส่ใจสุขภาพกันมาก ชาวมังสวิรัติก็มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วยแถมยังแตกแขนงไปมากมายทั้งแบบเคร่งและไม่เคร่ง ที่เลิกดื่มกินเนสไปก็มากมาย ที่ออกมารณรงค์ให้เปลี่ยนเทคนิคการผลิตก็ไม่ใช่น้อย โรงเบียร์จึงพยายามหาทางปรับตัวมาสักพักใหญ่

เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเขาจึงออกมาแจ้งกับชาวโลกเรียบร้อยว่า ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2016 เบียร์กินเนสได้ตัดสินใจเลิกใช้ไอซินกลัสแล้วนะทุกคน โดยได้เปลี่ยนไปใช้ระบบกรองสุดทันสมัยแทน

Vegan is the New Black
Vegan is the New Black – tumblr

ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังคาดเดากันไม่ถูกว่าอะไรจะมาแทนเจ้าสารตัวนี้ได้ เพราะว่าที่ลองกันมาไม่ว่าจะเป็นการใช้กรดแทนนิน หรือใช้ระบบกรองที่ผสานทั้งแบบสารเคมีและกายภาพเข้าด้วยกัน หรือจะเป็นสารสกัดจากพืชบางอย่าง เช่น สาหร่ายแดงและมอสไอริช ต่างก็ให้ผลลัพธ์ที่ยังเทียบกับไอซินกลัสไม่ได้ ต่างคนต่างจึงต้องลุ้นรอกันต่อไปว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่างกินเนสจะเปิดเผยนวัตกรรมอะไรเด็ด ๆ ในการทำให้เบียร์ใสอย่างรวดเร็วทันใจออกมา

รู้อย่างนี้แล้ว ชาววีแกนคนไหนอยากจะดื่มเบียร์ดำขาประจำเจ้านี้ให้สบายใจก็จัดไปให้เต็มที่ ส่วนใครที่เป็นมังสวิรัติแต่ดันติดอกติดใจกินเนสยาวมาตั้งแต่ก่อนปี 2016 แล้ว ก็คงไม่เป็นไรกระมัง ไม่รู้ไม่ว่ากัน! 😀

Obama toasting
Obama thumbs up – telegraph

นักดื่มรุ่นใหญ่อยากเป็นคอเบียร์น้องใหม่ เริ่มตรงไหนดี?

Beer, wine and other booze
Beer, wine and other booze
Got Beer? – thegrapesunwrapped

จะไปทางไหนดี จะมีใครชี้ทาง? เราเองไงจะใครล่ะ

สำหรับคนที่นิยมการจิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดหรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูงแล้ว ย่อมจะต้องเห็นว่ามีความแปลกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเบียร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเข้ามาของเบียร์นอกและคราฟต์เบียร์จำนวนมากมาย กระทั่งในปัจจุบันก็มีแบรนด์ที่คนไทยทำเองผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดนั้นยิ่งทำให้มุมมองต่างๆ ที่นักดื่มยุคก่อนมีต่อเครื่องดื่มที่เรียกว่าเบียร์เปลี่ยนไปบ้างไม่มากก็น้อย ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจคิดอยากลองเปลี่ยนแก้วไวน์มาจับเบียร์ดูบ้างเป็นครั้งคราว แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เพราะที่ผ่านมาก็แทบไม่ได้แตะเบียร์เลย และโลกของคราฟต์เบียร์ก็เปิดทางเลือกให้อย่างมากมายเหลือเกิน หัวจะปวด! วันนี้เรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาให้ดูเป็นแนวทาง มาดูกัน

 

คอแชมเปญ: เบียร์สไตล์เซซง

เบียร์เซซงนั้นมีลักษณะที่ซ่าและให้ความสดชื่นได้ดี มีความ “ดราย” และเปรี้ยวฉ่ำบางๆ คล้ายกับเครื่องดื่มจำพวกไวน์ขาวที่สดใสซาบซ่านอย่างแชมเปญ สำหรับเบียร์เซซงนั้นคุณอาจได้กลิ่นอายสดใสคล้ายเลมอน หอมเผ็ดร้อนเล็กน้อยอย่างพริกไทยดำและสมุนไพรแห้ง

 

คอวิสกี้: เบียร์สไตล์เวียนนาลาเกอร์

อันที่จริงสำหรับคนไทย (และอาจจะทั้งโลกนั่นแหละ) การที่คุณจะเป็นคอเหล้าวิสกี้และชอบดื่มเบียร์ลาเกอร์อยู่แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่ถ้าคุณเบื่อหน่ายกับลาเกอร์ตามท้องตลาดที่คุณมักดื่มฆ่าเวลาและอยากลองอะไรที่น่าสนใจมากขึ้นอีกหน่อย เราแนะนำให้หาเบียร์สไตล์เวียนนาลาเกอร์มาลองจิบดู กลิ่นมอลต์คั่วที่ให้ความซับซ้อนและนุ่มลึกจะทำให้คุณเชื่อมติดประสบการณ์กับวิสกี้ที่คุณโปรดปรานได้ไม่ยากนัก

 

คอรัม หรือพอร์ตไวน์: เบียร์สไตล์เบลเยียนสตรองเอล หรือไม่ก็สไตล์บาร์เลย์ไวน์

เนื้อเบียร์เหล่านี้มีความหนักแน่น ดีกรีแรงและรสจัดจ้านเต็มปากเต็มคำ ติดหวานเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่คอเหล้ารัมย่อมคุ้นเคยดี สายแข็งทางด้านนี้รีบหามาลองดูเลย

 

คอไวน์โซวิญง บลองก์: เบียร์สไตล์ดับเบิลไอพีเอ

ดับเบิลไอพีเอเป็นเบียร์ที่มีระดับความขมสูงมาก แต่เป็นเบียร์ที่ดื่มไม่ยากเพราะเบียร์แบบนี้ส่วนใหญ่มักจะมีความสมดุลของรสชาติค่อนข้างดี ด้วยกลิ่นฮอปส์ที่หอมแรง เนื้อมอลต์แน่นและติดหวานกลมกล่อม ทำให้คอไวน์แนวหอมจัดจ้านเช่นนี้เข้าใจทิศทางได้เป็นอย่างดีและเข้าสู่การดื่มด่ำอรรถรสได้ไว

 

คอไวน์มอสกาโต้: เบียร์สไตล์ไวส์เบียร์

คอไวน์ที่ชื่นชอบรสชาตินุ่มนวล ละมุนลิ้น ติดหวานและมีกลิ่นหอมแนวผลไม้ให้ลองสั่งวีทเบียร์ (ควรเป็นเฮเฟอไวเซ่นแบบเยอรมัน จะเริ่มด้วย Blossom Weizen ของเบียร์เชียงใหม่ก็เหมาะเจาะพอดีอยู่) มาลองจิบดู กลิ่นรสของเบียร์แนวนี้มักจะสดใสคล้ายผลกล้วยผสานกับความหอมเย็นคล้ายกานพลู อีกทั้งยังให้สัมผัสที่นุ่มปากคอด้วย

 

คอรีสลิ่ง: เบียร์สไตล์โกเซอ

สำหรับใครที่ชอบดื่มรีสลิ่งแบบเยอรมันซึ่งหอมฟุ้ง มีรสปะแล่ม ออกไปทาง “ดราย” และติดเปรี้ยวฉ่ำ คุณอาจมองหาเบียร์โกเซอที่ปัจจุบันยังมีไม่มากฉลากนักในบ้านเรามาลองดื่มดู เบียร์แนวนี้จะมีรสปะแล่มติดเค็มและอาจซ่อนความเปรี้ยวสดชื่นไว้อย่างลงตัวภายใต้กลิ่นหอมเผ็ดร้อนคล้ายเครื่องเทศ คุณอาจประหลาดใจเล็กน้อยกับเบียร์แบบนี้ (ในทำนองที่ว่าเบียร์มีแบบนี้ด้วยจริงเหรอ ซึ่งต้องบอกว่าหากนับกันจริงจังแล้ว เบียร์มีหลากหลายสไตล์จนคุณคาดไม่ถึงเลยล่ะ) แต่นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่าเบียร์สไตล์นี้เพิ่งกลับมาได้รับความนิยมในหมู่คนดื่มคราฟต์เบียร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้เองหลังจากถูกอุตสาหกรรมเบียร์มองข้ามและละทิ้งไปนาน และแม้จะเป็นอย่างนั้นแล้วเบียร์โกเซอก็ยังไม่ได้แพร่หลายมากนักในหมู่คอคราฟต์เบียร์ไทยเอง

 

คอเบอร์เบิน: เบียร์สไตล์เบอร์เบิน บาเรลเอจ อิมพีเรียลสเตาท์

สายนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมาตามชื่อเสียงเรียงนาม เนื่องจากว่านี่คือเบียร์อิมพีเรียลสเตาท์ที่พกพาความหอมอบอุ่นแบบช็อกโกและและกาแฟมาผสานเข้ากับกลิ่นหอมหวานอย่างวานิลลา คาราเมล และไม้โอ๊กจากถังเหล้าเบอร์เบินได้อย่างลงตัว ทั้งดีกรีที่หนักหน่วง รสจัด และกลิ่นท้ายที่ยาวนาน คอเบอร์เบินชั้นดีควรลอง และไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงหากคุณชอบดื่มกาแฟด้วย

 

คอเบอร์กันดี: เบียร์สไตล์แฟลนเดอร์ส เรดเอล

หากคุณนิยมไวน์แดงปิโนต์นัวร์ชั้นเลิศจากเบอร์กันดีในฝรั่งเศส หรือไวน์ “เชอรี่”จากเฆเรสในสเปน เบียร์อาจเป็นเครื่องดื่มที่คุณรู้สึกอินยากอยู่สักหน่อย เว้นเสียแต่ว่าคุณจะได้ลองจิบแฟลนเดอร์ เรดเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในเอลชนิดเปรี้ยวจากเบลเยียมดูเสียก่อน เบียร์ชนิดนี้มีสีแดงระเรื่อ มีกลิ่นรสของผลไม้อย่างเข้มข้นชัดเจน โดยมากจะเป็นกลิ่นหอมแนวบ๊วย แรสเบอร์รี เชอรี่ และลูกเกด ผสานกับกลิ่นขนมปังปิ้งจาง ๆ และติดเปรี้ยว (มากน้อยต่างกันไปในแต่ละสูตร) แล้วคุณอาจจะติดใจเลยล่ะ

 

เหล่านี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่เรานำมาแนะแนวทางให้ดูเท่านั้น เห็นไหมว่าเบียร์เป็นเรื่องดื่มที่รุ่มรวยและอุดมไปด้วยทางเลือกอย่างแท้จริง และปัจจุบันพวกเราก็เข้าถึงทางเลือกเหล่านี้ได้มากขึ้นทุกทีแม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอยู่อีกหลายส่วนก็ตาม อย่างไรก็ตามเราก็หวังเหมือนกับทุกคนว่าสิ่งต่าง ๆ ย่อมจะดียิ่งขึ้นได้อีกในอนาคต (หรืออย่างน้อยก็ไม่แย่ลง จริงไหม)

ใครที่เคยดื่มเครื่องดื่มอย่างอื่นเป็นประจำ ลองเดินเข้าร้านคราฟต์เบียร์ไปเปิดโลกใบใหม่ดูบ้างก็น่าสนุกออกนะ หรือจะลองสั่งซื้อไปร่วมจิบกับผู้หลักผู้ใหญ่สายดื่มดูก็น่าสนใจและอาจได้บทสนทนาใหม่ ๆ ที่ต่อยอดได้อีกเพียบด้วย ลองสิ!

A glass of wine and a glass of beer
In wine there is wisdom, in beer there is freedom – crushbrew

เรื่องเบียร์ “ลาเกอร์” ที่คุณอาจยังไม่รู้

Dark Lager Beer

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คอเบียร์ชาวไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเริ่มมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่เปรียบได้กับของขวัญจากพระเจ้าชนิดนี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากตลาดเบียร์ประเภทลาเกอร์ (Lager beer) ในบ้านเรามีความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายทางการตลาดหรือความพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่เข้าสู่วงการเบียร์ก็ตาม เราได้พบว่ายังมีนักดื่มอีกจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจยังไม่ชัดเจนหรืออาจจะคลาดเคลื่อนไปเลยเกี่ยวกับเรื่องเบียร์ลาเกอร์ โดยมากมักจะคิดกันไปว่าเบียร์ลาเกอร์มีแบบเดียวคือสีทองใส รสซ่า มีรสชาติไม่ซับซ้อน เมื่อผู้คนเหล่านี้บรรยายถึงเบียร์สักฉลาก จึงมักออกมาในข้อความทำนองว่า “หอมหวานทานง่าย” “รสนุ่มลื่นบางเบา” ในนัยว่าแตกต่างจากเบียร์เอล เบียร์ฝรั่งที่มีสีเข้ม แรงและรสจัด ผิดเต็มประตู! เบียร์ลาเกอร์มีอะไรมากกว่านั้นเยอะ และความเข้าใจที่ว่าเบียร์เอลเป็นเบียร์ที่ฝรั่งชอบดื่ม และเบียร์ลาเกอร์เป็นเบียร์ที่คนไทยชอบดื่มก็ฟังดูน่าขนลุกไม่ใช่เล่น ใครที่กำลังคิดอย่างนี้อยู่ เรามีข้อแนะนำอย่างแรกเลยคือ ลบมันออกไป ลืมมันซะ!

Different Types of Lager
Different Types of Lager – foodal
  • จริงอยู่ว่าเมื่อพิจารณาจากปริมาณการขายแล้ว เบียร์ลาเกอร์ที่วางขายเป็นส่วนมากในโลกนี้จะเป็นเบียร์ที่สีทองใสซ่าและรสบางในแบบอเมริกันหรืออินเตอร์ฯ เพลลาเกอร์ (เบียร์ลาเกอร์สีจาง) ซึ่งเป็นประเภทย่อยของเบียร์ที่หมักด้วยยีสต์สายพันธุ์ลาเกอร์เท่านั้น

 

  • คำว่า “ลาเกอร์” (Lager) มาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า ห้องเก็บของ ห้องกักกัน ห้องเก็บรักษา คำกริยาในภาษาอังกฤษที่ว่า Lagering หมายถึงการหมักและเก็บบ่มเบียร์ในห้องเย็น (นั่นก็เพราะยีสต์สายพันธุ์ที่ใช้ทำเบียร์ลาเกอร์ทำงานได้ดีในอุณหภูมิต่ำ) โดยในอดีตจะมีการขุดหลุมให้เป็นห้องเก็บเบียร์ซึ่งจะมีการนำเอาน้ำแข็งจากแม่น้ำลำธารในละแวกใกล้เคียงมาใส่ไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิเบียร์ให้ต่ำอยู่ตลอดในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาได้ดีและรากไม่หยั่งลึกนักเอาไว้ข้างบนเพื่อบังแดดด้วย ทุกวันนี้มีโรงเบียร์ในยุโรปหลายแห่งที่ยังคงดูแลหลุมถ้ำเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี และคุณสามารถเข้าชมได้ ในบางแห่งถึงกับมีการบูรณะและต่อเติมใหม่เพื่อเปิดพื้นที่แบบนี้เป็นจุดบริการลูกค้าที่ต้องการกินดื่มสังสรรค์ที่โรงเบียร์ด้วยนะ

 

  • ในสมัยหนึ่ง พิลสเนอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในเบียร์เพลลาเกอร์ เคยถูกมองว่าเป็นเบียร์ยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักทำเบียร์ได้ใช้ดอกฮอปส์จำนวนมาก และในปัจจุบันมีพิลสเนอร์จากโรงคราฟต์เบียร์มากมายที่อัดแน่นไปด้วยฮอปส์ที่น่าสนใจจากทั่วโลก ดังนั้นเบียร์พิลสเนอร์แต่ละยี่ห้อจึงมอบความพึงพอใจที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอมที่ชวนให้นึกถึงดอกไม้ใบหญ้า หรือน้ำผึ้งและผลไม้ต่าง ๆ นานา

 

  • เบียร์ “พอร์เตอร์บอลติก” เป็นเบียร์ที่มีคำว่าพอร์เตอร์ในชื่อ ผู้คนที่สนใจเรื่องเบียร์มากขึ้นหน่อยจึงมักคิดว่าเป็นเบียร์เอล แต่อันที่จริงเบียร์ชนิดนี้เป็นลาเกอร์ โดยทั่วไปแล้วเบียร์พอร์เตอร์บอลติกถือว่าเป็นของที่ไม่ได้ดื่มง่ายสำหรับคอเบียร์ฝึกหัด เนื่องจากมีรสแน่นข้นจัดจ้านมาก คล้ายนมช็อคโกแลตผสมเครื่องเทศ ผลไม้สีเข้ม กากน้ำตาล ฉาบด้วยความเผ็ดร้อนจากแอลกอฮอล์

 

  • เบียร์ลาเกอร์แบบ “ไอส์บ็อค” (Eisbock) มีดีกรีสูงพอที่จะทำให้คุณเมาได้ภายในการดื่มเพียง 1-2 แก้วเท่านั้น กรรมวิธีคือนักต้มเบียร์จะทำให้เบียร์ผ่านอุณหภูมิจุดเยือกแข็งเพื่อแยกน้ำออกจากเบียร์ สิ่งที่คงเหลืออยู่จึงเป็นเบียร์ “ตัวกลั่น” ทั้งนั้น รสจัดแน่นแต่ดื่มได้ไม่ยากเกินไป มอลต์หนักแน่นและนุ่ม รับประกันความแรง

 

  • ยังมีเบียร์ประเภทลาเกอร์อีกหลายชนิดย่อยๆ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และมีความจัดจ้าน ไม่ว่าจะเป็น Rauchbier (เบียร์รมควัน / ไม่ได้รมด้วยควันตรงตัวตามชื่อเรียก แต่มีการใช้มอลต์ผ่านไฟในการปรุงเบียร์), Amber Kellerbier Munich Dunkel, Schwarzbier และอื่น ๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีลาเกอร์สไตล์ใหม่เกิดขึ้นในโลกของคราฟต์เบียร์เต็มไปหมดตามความบรรเจิดของนักทำเบียร์อีก เช่น อินเดียเพลลาเกอร์ เป็นต้น ส่วนลาเกอร์จำพวกที่เกิดขึ้นมาในกรอบคิดทางการตลาดเป็นหลักนั้นเราขอละไว้ก่อน

 

  • ยีสต์สายพันธุ์ที่ใช้ทำเบียร์ลาเกอร์เป็นยีสต์ที่ไม่ค่อยแสดงตัวตนเกินหน้าเกินตาวัตถุดิบอย่างอื่นในสูตรทำเบียร์ จึงทำให้ไม่บดบังคุณลักษณะของธัญพืชและดอกฮอปส์ที่ผู้ผลิตเลือกใช้ ยีสต์กลุ่มนี้แม้จะมีผลต่อเล็กน้อยต่อรสของมอลต์แต่เบียร์ก็ยังคงมีลักษณะค่อนข้างกระจ่างชัดเจนอยู่ดี (เมื่อเทียบกับผลลัพธ์จากยีสต์ที่ใช้ทำเอล) ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว เบียร์ลาเกอร์จึงถูกมองว่ามีลักษณะทั่วไปที่สดใสซาบซ่านและสะอาดปากคอ

ตราแห่งอิสรภาพของชาวคราฟต์เบียร์

Beer packages with Independent Craft sign

อุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากไปทั่วทุกมุมโลกตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ และได้เกิดการปะทะกันมากมายหลายรูปแบบระหว่างเบียร์รายย่อยและเบียร์เจ้าตลาดตามความเข้มข้นของพัฒนาการดังกล่าว

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของคราฟต์เบียร์นั้น ปรากฏการณ์ “เบียร์กินเบียร์” ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ข่าวคราวการไล่เข้าฮุบกิจการหรือการคืบคลานเข้าไปควบรวมหรือขอมีส่วนร่วมในธุรกิจผลิตคราฟต์เบียร์จากฝั่งบริษัทเบียร์ขนาดยักษ์นั้นปรากฏอยู่บนหน้าข่าวแทบไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากชนิดเสียงแตกและเกิดเป็นเรื่องดราม่าขึ้นอยู่เนือง ๆ

แต่โดยมาก หากลองฟังเสียงจากบรรดาผู้ผลิตที่ยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ในสมาคมผู้ผลิตเบียร์หรือ Brewers Association (BA) ซึ่งเป็นสมาคมธุรกิจประเภทไม่หวังผลกำไรที่เป็นแกนกลางในการผลักดันการคงอยู่และความเจริญก้าวหน้าของวงการคราฟต์เบียร์อเมริกันแล้ว เสียงส่วนใหญ่ก็ค่อนไปในทางไม่เห็นด้วยและออกจะดูแคลนการขายกิจการของผู้ผลิตอิสระรายย่อยรวมทั้งพฤติกรรมการกว้านซื้ออย่างบ้าคลั่งของบรรษัทระดับมหึมาเหล่านั้นอยู่มากเอาการ

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ทางสมาคม BA จึงได้เริ่มเดินหน้าโครงการซึ่งมีแนวคิดที่ต้องการสื่อสารกับผู้บริโภคให้ชัดเจนว่าใครบ้างที่ยังคงสถานะเป็นผู้ผลิตอิสระอยู่ท่ามกลางความโกลาหลทางธุรกิจที่ว่านี้

ความอิสระที่ว่านี้สะท้อนถึงการที่ผู้ผลิตจากโรงทำเบียร์เหล่านี้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติการบริหารจัดการของบรรษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขนาดยักษ์ทั้งหลาย และสามารถสร้างสรรค์เบียร์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและแปลกใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยืนอยู่บนหลักคิดเรื่องผลกำไรสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว

beer can/bottle
A Beer Can+Bottle – thenewyorktimes

Independent Craft

ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ใช้รูปเงาขวดเบียร์กลับหัว มีคำว่า INDEPENDENT หรือ “เป็นอิสระ” อยู่ตรงกลาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าความอินดี้ หรือการผลิตแบบอิสระจากค่ายยักษ์ใหญ่นั่นเองที่เป็นหัวใจสำคัญของผู้ที่เลือกดื่มคราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 81 ในปีที่ทำการสำรวจ)

Independent Craft
Independent Craft – brewersassociation

Bob Pease ประธานและ CEO ของ BA กล่าวเสริมด้วยว่า “เหล่าผู้ผลิตเบียร์อิสระจะ “พลิก” (ดังนั้นจึงใช้รูปขวดเบียร์กลับหัว – ผู้เขียน) อุตสาหกรรมเบียร์ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องของชุมชนมากกว่าบรรษัท และสนใจเรื่องน้ำเบียร์มากกว่าผลกำไร พวกเขาจะพัฒนาเบียร์และประเทศชาติให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยก้าวไกลไปมากกว่าแค่การทำเบียร์ ธุรกิจขนาดย่อมของพวกเขานั้นตอบแทนสู่สังคมรอบข้างและค้ำชูการคงอยู่ของเมืองน้อยใหญ่นับพันแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา”

ปัจจุบันโรงผลิตเบียร์ในสหรัฐอเมริกามีอยู่มากกว่า 9,000 แห่ง และร้อยละ 99 ของจำนวนทั้งหมดก็เป็นผู้ผลิตคราฟต์เบียร์อิสระรายย่อยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งการตลาดของบรรดาผู้ผลิตเหล่านี้กลับคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 กว่า ๆ ของปริมาณการซื้อขายเบียร์ทั้งหมดเท่านั้นเอง  เมื่อสภาวะนี้มาปะทะเข้ากับสถานการณ์ที่บรรษัทเบียร์ขนาดยักษ์กำลังไล่เขมือบผู้ผลิตรายย่อยซึ่งยิ่งทำให้สัดส่วนหดหายลงไปทุกทีเช่นนี้ ตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ออกมาอาจกลายเป็นเหมือนกับเครื่องยึดเหนี่ยวซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตรายย่อยและวงการคราฟต์เบียร์ต่อสู้กับกระแสคลื่นทุนต่อไปได้อย่างแข็งแกร่งก็เป็นได้

Beer packages with Independent Craft sign
Displaying the Independent Spirit – brewersassociation

จากวันนี้ไปเราชาวไทยคงได้เห็นเบียร์จากผู้ผลิตอิสระทยอยแปะตราใหม่นี้ลงบนเบียร์ของพวกเขาเช่นกัน และตรานี้ยังไม่ได้ถูกจำกัดให้ใช้อยู่แค่ในกลุ่มสมาคม BA เท่านั้นด้วยนะ ก็คอยติดตามกันให้ดีแล้วกันคอเบียร์ทั้งหลาย

Are you 20 or older? This website requires you to be 20 years of age or older. Please verify your age to view the content, or click "Exit" to leave.